ฝ้า เป็นความผิดปกติของผิวหนังชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล จนถึงเทา ขึ้นที่บริเวณโหนแก้ม หน้าผาก เหนือปาก ในคนไทยมักเป็นทั้งฝ้าลึกและฝ้าตื้นผสมกัน โดยมักจะมีเส้นเลือดฝอยงอก หรือฝ้าเส้นเลือดเป็นร่วมด้วยได้บ่อย
เนื่องจากฝ้าเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่ไม่หายขาด แต่ทำให้ดีขึ้นได้ การรักษาฝ้าจึงต้องอาศัยหลายวิธีผสมผสานพร้อมกัน ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยน lifestyle ที่เลี่ยงการทำลายผิว ซึ่งคล้ายกับการรักษาโรคประจำตัวเช่นความดัน เบาหวาน ไขมันสูง นั่นเอง
วิธีการรักษาฝ้าที่ทางคลินิกใช้ได้แก่
1. ยาทารักษาฝ้า
ต้องยับยั้งกระบวนการสร้าง ขนส่ง และปลดปล่อยเมลานินในชั้นผิวหนัง ตัวยา เช่น Vitamin C, Arbutin, Licorice, Niacin, Kojic acid ซึ่งจะอยู่ในรูปครีม เซรั่ม อีมัลชั่น มีหลายแบบให้เลือกใช้ ทั้งนี้ควรเป็นตัวยาที่ให้ผลยับยั้งเม็ดสีได้สม่ำเสมอ ไม่กลับมาเข้มหนักกว่าเดิมหลังหยุดทาเหมือนที่พบได้จากยาไฮโดรควิโนน
2. ยากินรักษาฝ้า
ยาบางกลุ่มเช่น Tranexamic acid สามารถช่วยให้ฝ้าจางลงได้ มักได้ผลกับฝ้าลึก โดยกินต่อเนื่อง 4-6 เดือน ขึ้นกับการตอบสนอง แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากเป็นยาที่มีข้อต้องระวังหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน
3. Laser
เลเซอร์ที่ทางคลินิกใช้รักษาฝ้า คือ Q-switched Nd:YAG “Spectra” ที่มุ่งย่อยสลายเม็ดสีอย่างจำเพาะ นุ่มนวล ไม่ทำลายผิว จากบริษัท LUTRONIC เกาหลี ซึ่งได้รับรองมาตรฐานทั้ง USFDA, Korea FDA และอย.ไทย
โดยการรักษาด้วยเลเซอร์จะยิงแบบไม่ตกสะเก็ด ทำทุก 2 สัปดาห์ ใช้จำนวน 8-10 ครั้ง ขึ้นกับความเข้มก่อนรักษา แต่ละครั้งเม็ดสีจะค่อยๆ ถูกย่อยลายและเก็บไปกำจัดโดยเม็ดเลือดขาวใต้ผิวหนัง
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ การแดงเพียงเล็กน้อยซึ่งจะหายไปภายใน 6 ชั่วโมง
4. การผลัดผิวด้วยกรดผลไม้ (Chemical Peeling)
เป็นการทากรดในกลุ่ม AHA, BHA เช่น Glycolic acid, Lactic acid, Mandelic acid, Salicylic acid เพื่อช่วยผลัดชั้นหนังกำพร้าบนสุดให้หลุดล่อนออก มักได้ผลกับฝ้าตื้น เพราะเป็นเม็ดสีในชั้นบนสุด ได้ผลค่อนข้างเร็วกว่าวิธีอื่น อาจจะทำให้ผิวไวต่อแดดมากขึ้นในระยะสั้นๆ 1 สัปดาห์แรกหลังทำ ซึ่งต้องเลี่ยงแดด
*** ส่วนการฉีดเมโสสลายเม็ดสี และการขัดกรอผิว ไม่อาจรักษาฝ้าได้ อีกทั้งความเป็นกรดในตัวยาที่ใช้ฉีดอาจทำให้ระคายเคืองรุนแรง (มีรีวิวหลายท่านแจ้งตรงกันว่าฉีดรักษาฝ้าแสบมาก) จนผิวอักเสบและกระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้นได้